
ในโลกที่เราสามารถชมงานศิลปะได้ผ่านปลายนิ้วบนจอสมาร์ทโฟน หรือจอคอมพิวเตอร์ อิสระในการค้นหา เลือกชมนั้นเป็นไปอย่างเสรี ไม่มีขีดจำกัด แต่วันนี้ที่ “บ้านศิลปิน หัวหิน” เราจะได้สัมผัสถึงความเสรีนั้นในรูปแบบที่เป็นแก่นแท้ดั้งเดิมแห่งการชมงานศิลปะ นั่นคือการ “ดูด้วยตาตัวเอง” ภายในสถานที่แห่งนี้ที่เต็มไปด้วยผลงาน และของสะสมโบราณต่างๆ มากมาย ท่ามกลางร่มไม้ และสายลมที่เงียบสงบ ซึ่งช่วยสร้างบรรยากาศที่เป็นเอกลักษณ์ และเสริมอรรถรสในการเดินชมงานศิลปะได้เป็นอย่างดีแบบไม่มีที่ไหนเหมือน
โดย “อ.ทวี เกษางาม” ศิลปินสีน้ำแถวหน้าของประเทศไทย ที่มีชื่อเสียงดังไกลถึงระดับโลก หนึ่งในผู้ก่อตั้ง “บ้านศิลปิน หัวหิน” ร่วมกับ “อ.ชุมพล ดอลสกุล” นักสะสมงานศิลปะ ที่ร่วมกันพัฒนาสถานที่แห่งนี้ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านศิลปะ และเป็นศูนย์กลางในการนัดเจอกันของคนที่ชื่นชอบงานศิลปะ ไปจนถึงเป็นแหล่งเลือกซื้องานศิลปะสำหรับนักสะสม หรือนำไปตกแต่ง ที่สำคัญในเมืองหัวหิน และประเทศไทย


22 ปี ที่สดใหม่อยู่เสมอ
อ. ทวี พาเดินชมในตัวบ้านศิลปิน ที่นี่มีทั้งภาพวาด งานประติมากรรม ของสะสมโบราณ และอีกหลากหลายอย่างที่มูลค่ามหาศาล โดยที่ทั้งหมดถูกจัดเก็บ ดูแลอยู่ที่นี่ ซึ่งเป็นเวลากว่า 2 ทศวรรษ ที่โถงสี่เหลี่ยมใต้ร่มไม้แห่งนี้ถูกเติมแต่งสีสัน สร้างชีวิตชีวา สับเปลี่ยนนู่นนี่ งานเก่าถูกซื้อไป งานใหม่ถูกสร้างขึ้นมา เหมือนว่าสถานที่แห่งนี้กำลังเติบโต และพัฒนาอยู่ตลอดแบบไม่มีทีท่าว่าจะหยุด
“บ้านศิลปินอยู่มาได้ 22 ปีนี่เกิดจากการที่เรามีจุดยืนที่มั่นคง ไม่เคยเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับเรื่องศิลปะ หัตถกรรม ของศิลปินในท้องถิ่น และในประเทศไทย ซึ่งเราได้รวมตัวกัน เพื่อที่จะสร้างความหลากหลาย มีกิจกรรมสม่ำเสมอ เพื่อให้คนที่สนใจงานศิลปะเข้ามาแล้วเจอกับความแปลกใหม่อยู่เรื่อยๆ นี่คือหลักที่ทำให้เราอยู่กับมันอย่างมั่นคง โดยไม่เปลี่ยนแปลงสิ่งที่ตัวเองชอบและ รัก”


มูลค่าของความสุนทรีย
“การลงทุนในงานศิลปะหรือ “Passion Investment” คือการลงทุนในสิ่งที่ตัวเองรัก และตัวเองชอบ ต่างกับการลงทุนอย่างอื่นตรงที่ว่า การลงทุนในสิ่งที่ชอบ อย่างแรกที่เราได้มาทันทีคือ “ความสุข” ต่างกันคือถ้าเราไปลงทุนในที่ดิน ทองคำ หรืออย่างอื่น เราไม่ได้มองที่ความสุข แต่เรามองเรื่องการลงทุนระยะยาว อย่างสมมุติเราจะซื้อนาฬิกาโบราณ รถยนต์โบราณ หรือภาพวาด ซึ่งของเหล่านี้เนี่ยเป็น Passion Investment นาทีแรกที่เราได้มันมาเลยแน่ๆ คือความสุข อันนี้คือสิ่งที่แตกต่างกับอย่างอื่น อย่างที่สองคือ การลงทุนในงานศิลปะนั้นเป็นการลงทุนที่เกิดความคุ้มค่าสูงมากกว่าอย่างอื่น สินทรัพย์ที่มีมูลค่าในโลกนี้ที่มีราคาสูงที่สุดก็คืองานศิลปะ การประมูลบ้าน ประมูลรถยนต์ การประมูลที่ดิน ก็ถือว่าราคาน้อยกว่างานศิลปะ เพราะงานศิลปะประมูลชิ้นเดียวอาจมีมูลค่ามหาศาล แสดงว่ากระแสโลกที่เกี่ยวกับเรื่องการลงทุนในงานศิลปะเนี่ย ในตอนนี้คงเป็นกลุ่มลงทุนขนาดเล็กแต่มีกำลังทรัพย์สูงที่ให้คุณค่ากับงานศิลปะ”



เข้าใจศิลปะ
อ.ทวี บอกว่าวงการศิลปะไทยจำเป็นต้องพัฒนาควบคู่ไปพร้อมกับระบบการศึกษา เช่น ยุโรป อเมริกา ที่งานศิลปะมีความเจริญเพราะประเทศเหล่านั้นให้ความสำคัญกับการศึกษาด้านศิลปะ มิวเซียม งานอาร์ต ควบคู่กันไปพร้อมกับการพัฒนาในศาสตร์อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านเศรษฐกิจ การเมือง แต่กลับกันในประเทศไทยเราต้องยอมรับว่าภาคการศึกษาในเรื่องศิลปะถือว่ายังน้อยมาก
“โดยรวมแล้วเด็ก และเยาวชนที่ผ่านระบบการศึกษาในประเทศเรานั้นยังมีน้อย ซึ่งตรงนี้ก็จะเป็นปัญหาในระยะยาวตรงที่ว่า การพัฒนาวงการศิลปะในบ้านเราเพื่อที่จะให้เป็นวงกว้างกันเองในระดับประเทศก็จะไม่ดีเท่าที่ควร อย่างที่หลายคนดูงานศิลปะแล้วจรรโลงใจ รับรู้ถึงความงาม แต่ไม่เข้าใจ นั่นเป็นเพราะเขาไม่มีความรู้เรื่องศิลปะ ซึ่งก็ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ถ้าเขามีความรู้ทางศิลปะ เขาก็จะเข้าใจมันอย่างลึกซึ้งมากขึ้น ซึ่งความรู้ได้มาจากไหนล่ะ ก็ได้มาจากภาคการศึกษาไง ถ้าศึกษาก็จะเข้าใจ และโลกออนไลน์ก็มีผล ต้องบอกก่อนว่าทุกวันนี้เราแทบจะไม่มีหนังสือนิตยสารแล้ว เหลือน้อยมากเมื่อเทียบกับสมัยก่อนที่คนส่วนใหญ่เรียนรู้ทุกอย่างได้จากแมกกาซีน ทุกวันนี้โลกออนไลน์มันอยู่ในมือเราทุกวินาที เราสามารถคลิกเข้าไปดูได้ตลอดเวลา ในเรื่องการหาความรู้ ความเข้าใจ ถือว่าช่วยได้มากในเรื่องการเปิดโลกทัศน์”


ศิลปะไม่มีวันหยุดโต
โลกเราพัฒนาอย่างรวดเร็ว ศิลปะเองก็พัฒนาตามเช่นกัน ทุกวันนี้เมื่อพูดถึงศิลปะ จะไม่ใช่แค่การวาดรูปด้วยมืออีกต่อไป ศิลปะรูปแบบใหม่ๆเกิดขึ้นมากมายตามเครื่องมือ และเทคโนโลยีที่ก้าวหน้า Video Art (ศิลปะภาพเคลื่อนไหว), Projection Mapping (การใช้เครื่องฉาย ฉายภาพ หรือ วิดีโอขึ้นบนกำเเพง) และอื่นๆ อีกมากมายตามแต่จินตนาการของศิลปินจะสร้างสรรค์ แต่ก็ยังปฏิเสธไม่ได้ว่าภาพเขียนที่มีความดั้งเดิม นั่นคือพื้นฐาน คือแก่นแท้ คือต้นตำรับของการบันทึก และสร้างงานศิลปะมาตั้งแต่สมัยโบราณเลยก็ว่าได้
“งานศิลปะจริงๆ แล้วมันเป็น Visual โดยเฉพาะงานทัศนศิลป์มันต้องดูด้วยตา บางชิ้นงานจำเป็นต้องดูของจริง ดูผ่านช่องทางออนไลน์มันก็เปรียบเสมือนพิกเซลแสงที่อยู่บนหน้าจอ การไปดูงานศิลปะของจริงกับโลกออนไลน์ต่างกันราวฟ้ากับดิน มันจะไม่เหมือนศาสตร์อย่างอื่น อย่างวรรณกรรมที่รับรู้ข้อมูลด้วยการอ่าน แต่งานศิลปะมันต้องสัมผัสด้วยตาจริงๆ มันถึงจะเห็นความยิ่งใหญ่ ความแตกต่าง เพราะศิลปินเขาวาดด้วยเนื้อสีจากวัตถุสู่วัตถุ”

“บ้านศิลปินก็มีการปรับตัวในโลกออนไลน์ในแง่ของการให้ข้อมูล สื่อสารให้คนได้รับรู้ ได้เห็นเรามากขึ้น อย่างที่เรามาปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์เพจ ถือว่าเป็นการเปิดประตูให้คนทั้งโลกได้เห็นเรามากขึ้น ถือเป็นการประชาสัมพันธ์มากกว่า แต่ในด้านการค้าขายเรายังเน้นจุดเด่นแบบเดิมอยู่ เพราะว่าอย่างที่บอก ผู้ซื้อเขาก็อยากมาเห็นของจริง พอซื้อออนไลน์ไปภาพสีเพี้ยน อย่างประติมากรรม มันต้องดูได้รอบด้านสามมิติ แต่ในโลกออนไลน์มันก็ดูได้ระนาบเดียว ถึงจะมีโมเดล 3D หมุนได้ขนาดไหนก็ยังไม่สู้มาดูของจริง”


ทำอย่างต่อเนื่อง ด้วยความรัก
“สำหรับคนที่ชอบงานศิลปะ หรือสนใจที่จะวาดรูป ไม่ว่าจะเป็นศิลปิน หรือจะมาลงทุนอะไรก็แล้วแต่ ปัจจัยแรกมีอยู่เรื่องเดียวก็คือ “รักมันจริงหรือเปล่า” รักไม่พอต้องศรัทธามันด้วย ต้องทุ่มเททุกอย่างเพื่อที่จะให้สิ่งที่เรารักมันเกิดผล แต่ถ้าไม่รักแล้วคิดแต่จะทำเพราะอยากได้เงิน ยังไงก็เจ๊ง เพราะงานศิลปะไม่ใช่ธุรกิจที่สามารถได้กำไรกลับมาทันที แต่เป็นเรื่องของความรัก อย่างผมวาดรูป 10 20 ปีก็ยังไม่เบื่อ คนซื้อรูปไปเก็บก็ต้องซื้อต่อไปเรื่อยๆ หรือบางคนที่เรียนก็ต้องเรียนอย่างต่อเนื่อง ทางลัดอื่นไม่มี และไม่มีทางที่จะมีลัด เพราะงานศิลปะไม่มีคำว่าฟลุ๊ค มันมีแต่เรื่องวิริยะ ความเพียรพยายาม ความรัก และทำอย่างต่อเนื่อง เท่านั้นเอง”


Add Comment