
ชุมชนสะพานปลาของเมืองหัวหิน เรียกได้ว่าเป็นชุมชนดั้งเดิมที่พูดกันอย่างง่ายๆก็คือมีอายุราวรุ่นคุณปู่พวกเราเลยทีเดียว กาลเวลาผ่านไปจากผืนทรายว่างเปล่าก็ได้ถูกสร้างขึ้นเป็นสะพาน เป็นบ้าน เป็นชุมชน ซึ่งวันนี้เราอยู่กับ น้าบี๋ (สมเกียรติ บุตรจันทร์) ที่จะพาเราไปรู้จักกับอาชีพที่อยู่คู่กับเมืองท่องเที่ยวติดทะเลแห่งนี้มาอย่างยาวนาน นั่นก็คืออาชีพ “ชาวประมง” นั่นเอง
อากาศเป็นใจได้เวลาออกเรือ
“ก่อนหน้านี้ที่ยังไม่มีครอบครัว น้าเป็นช่างซ่อมรองเท้ามา 30 กว่าปี ซึ่งหลังจากแต่งงานแล้ว ครอบครัวของภรรยาต้นตระกูลของเขาเป็นชาวประมง น้าเลยได้มีโอกาสออกเรือตามต้นตระกูลเขา เพราะหลังออกจากงานเก่าเลยหันหน้ามาใช้ชีวิตด้านการประมงดู”
“นับดูก็ออกเรือมาก็ประมาณ 17 ปี ได้แล้ว แรกๆ ที่มาทำก็ชอบนะ มันเป็นงานอิสระ เพราะก่อนหน้านี้เราเป็นลูกน้องเขา พอได้มาทำงานเป็นของตัวเองแล้วเรารู้สึกว่ามันมีอิสระ อยากจะออกตอนไหน อยากจะทำตอนไหน มันก็อยู่ที่ความขยันของเรา ซึ่งการออกทะเลเนี่ยมันก็มีข้อเสียอยู่ อย่างหน้ามรสุม ชาวประมงเขาเรียกกันว่า “ลมว่าว” มันคือ ลมหนาว ลมว่าวมันจะมาช่วงประมาณเดือนพฤศจิกา ยาวไปยัน กุมภา ลมจะจัดมาก ชาวประมงก็จะเอาเรือเก็บเข้าท่า ไม่สามารถที่จะออกไปทำมาหากินได้ ก็ต้องหยุดกันก่อน หยุดดูลมก่อน บางคนช่วงต้นๆ พฤศจิกา ธันวาฯ เขาก็จะเก็บเรือไว้รอจังหวะออกหากุ้งกันช่วงมกรา กุมภา แต่ถ้าจะออกหากุ้งเนี่ยต้องไปจอดเรือที่เขาตะเกียบเพราะลมจะสงบ เกิดจากที่ตรงนั้นมีภูเขาบังลมให้ พอออกเรือก็จะได้ปลอดภัย เพราะลมมรสุมมันจะมาทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือ” น้าบี๋เล่าไปพลางชี้ทะเล ชี้ท้องฟ้า ชวนพวกเราดูทิศทางลมไปด้วยกัน

ต้องรู้จักทะเล ก่อนออกไปสู่ทะเล
ไม่ใช่ว่าอยากออกทะเลก็ออกกันไปเลยง่ายๆ แต่การจะออกหนึ่งครั้งจำเป็นต้องมีเป้าหมายว่าจะหาอะไร ต้องมีการวางแผน เตรียมอุปกรณ์ให้ถูกต้อง ไปจนถึงดูช่วงเวลา ดูแสง ว่าเหมาะสมกับการออกไปทำอะไร ซึ่ง “เวลา”ไม่ว่าจะยุคไหนก็เป็นเงินเป็นทอง โดยเฉพาะกับชาวประมง
“ใครอยากจะออกก็ออก ใครไม่อยากออกก็ไม่ต้องออก ซึ่งการออกเรือไปเนี่ย มันก็เป็นเรือแต่ละชนิดนะ เช่น เรือหมึก เราจะออกกันในช่วงตอนเย็น 5 โมงเย็น และเข้ามา 6 โมงเช้า ไปอยู่ทั้งคืน เพราะหมึกมันจะตอมไฟ สังเกตได้เวลาเรามาทะเลตอนกลางคืนแล้วเห็นไฟเขียวๆ นั่นแหละ “เรือไดหมึก” ถามว่ากลางวันจะมาได้ไหม ก็ได้ แต่จะได้ไม่มาก สู้ตอนกลางคืนไม่ได้”
“แต่ถ้าเป็นกุ้ง เราจะออกเรือตั้งแต่ตี 5 กลับมาอีกที 6 โมงเย็น ออกทั้งวัน เพราะอวนกุ้งเนี่ยมันจะออกได้ 2 น้ำ คำว่าสองน้ำเนี่ยหมายถึง น้ำขึ้นกับน้ำลง ถ้าน้ำหยุดมันจะไม่ติดกุ้ง อย่างตอนเย็นๆ เขาก็ปล่อยอวนไว้แล้วกว่าเราจะสาวอวนเสร็จ 5 ห่อ ก็ประมาณสัก 6 โมงเย็น ไหนจะต้องมาปลดกุ้งออกอีก ต้องรีบหน่อย เพราะพอมืดมันก็ทำอะไรไม่ค่อยได้แล้ว”
“ก่อนจะออกก็ต้องเตรียมตัวนิดหน่อย ดูพวกอุปกรณ์ทำการประมงที่เราจะเตรียมไป อย่างหมึกเราก็เตรียมแห กุ้งเราก็เตรียมอวน ปลาเราก็เตรียมอวนสำหรับปลาไป ก็แค่นั้นแหละ แล้วถ้าออกอวนปลาก็อาจจะมีถังน็อคแล้วใส่น้ำแข็งไป เพราะเราต้องหากลางคืนเหมือนกัน ปลาเนี่ยหาได้ทั้งกลางคืน และกลางวัน ส่วนใหญ่ก็ไม่มีอะไรมากก็ดูเวลาเอา เราก็มาเดินดูตามชายหาดนี่แหละ มาเดินดูก้อนปลา ถ้าก้อนปลามันขึ้นในเวลาไหนก็เอาตอนนั้นแหละ ถ้ามันขึ้นช่วงเช้าเราก็ออกเช้า ขึ้นช่วงบ่ายเราก็จะออกช่วงบ่าย ไม่ยากๆ”
“นอกจากที่บอกไปแล้ว เราก็ดูน้ำขึ้นน้ำลงด้วย มันเกี่ยวกับการปล่อยอวน เพราะว่าพื้นที่ของเรามีเขตพระราชฐาน เขาจะวางทุ่นเรียงไว้ในทะเล ถ้าน้ำลงเมื่อไหร่เราจะสามารถวางอวนได้ตั้งแต่ข้างเขตไป แต่ถ้าน้ำขึ้นเราต้องไปวางอยู่หน้าโรงแรมสายลม เพราะเวลาเราล้อมปลาแล้ว เราต้องมีการไล่ปลาที่อยู่ในอวน คือการกระทุ่มให้เสียงมันดัง ปลาจะได้ติดอวน แล้วอวนมันจะเดินมาเรื่อยๆ เราก็จะสาวก่อนให้ถึงก่อนสูโคร่ง ไอไฟแว้บๆ เราจะเห็นได้ตอนกลางคืน ถึงจะเลยจากแถวสะพานปลาไปสัก 200 – 300 เมตรก็ยังเห็น ถ้าเข้าเขตพระราชฐานเมื่อไหร่เขาจะจับเราทันที เพราะตอนนี้บริเวณนั้นเป็นเขตอนุรักษ์สัตว์น้ำ”
“การทำประมงบางทีก็ต้องแข่งขันกัน ทั้งในการจอดเรือ การดูปลา เพราะปลามันไม่ได้ขึ้นเหนือน้ำอยู่ตลอดเวลา ถ้าใครจอดเรือแล้วปลามันขึ้น คนที่ได้ก่อนก็คือคนที่จอดเรือไว้ มันมีทุกที่แหละการแข่งขัน ถ้าอยากได้หมึกเยอะๆ บางคนเขาไปตั้งแต่บ่าย 2 โมงเลยนะ ไปนอนบนเรือ กางเต็นท์นอน ร้อนๆ แบบนี้นี่แหละ เพราะถ้าเราไปเย็นเราจะไม่มีที่จอดเรือ อย่างน้าก็จะเอาเรือไปจอดไว้เลยเพราะมีเรือลำเล็ก แล้วก็มานั่งชายทะเลมองเรือเราไว้ ว่าเออเรือยังอยู่นะ”


ก่อนจะมาเป็นอาหารทะเลจานอร่อย
รู้เรื่องก่อนออกเรือ กับตอนที่อยู่ในทะเลไปแล้ว น้าบี๋ก็ได้เล่าให้เราฟังอีกว่าก่อนที่จะกลายมาเป็นอาหารซีฟู้ดอร่อยๆ บนจานให้เราได้ทานกัน เมื่อจับปลาจากทะเลมาแล้ว ปลาจะไปอยู่ที่ไหน ใครเป็นคนรับไป หรือมีการซื้อขายกันอย่างไรต่อ
“ถ้าเป็นหมึกเนี่ย เราจะโรงรับซื้อหมึกอยู่แถวสะพานปลานี่แหละ เราหาได้มาก็ไปที่โรงหมึกเลย เขาก็มีพนักงานคอยชั่งและ ให้ราคากับเรา ส่วนปลา เช่น ปลาทูจะมีเถ้าแก่มารอรับเราถึงที่เลย เราบอกเขาก่อนเลยว่าวันนี้จะออกหาปลากันนะ พอเราได้มาปุ๊บก็ชั่งน้ำหนัก ให้ราคากัน โดยที่เราไม่ต้องไปยุ่งอะไร ส่วนตลาดหลักๆ ที่ขายกันส่วนใหญ่จะเป็นที่ชะอำ เขาก็จะมาซื้อปลาจากเรานี่แหละ แต่ถ้าเป็นกุ้งกับหมึกก็จะเป็นคนหัวหินบ้านเรา เพราะพวกนี้เขาจะขายส่ง ขายในเขตของบ้านเรา กุ้งก็จะขายในตลาดเขาก็จะมีคนรับซื้ออยู่แล้ว”
“ส่วนราคาขายก็เป็นราคามาตราฐาน แต่ก็จะมีแม่ค้าบางเจ้าจะมาจองเรือลำนึงไว้ หามาได้สัก 10 – 20 โล ก็ขายให้แม่ค้าที่มาจองไว้ แต่ถ้าแบบปกติธรรมดา ถึงจะหามาได้เยอะ 40-50 โล ก็อาจจะขายไม่ได้หมดแบบนั้น เพราะคงไม่มีใครจะรับซื้อเยอะขนาดนั้น ผลสุดท้ายก็ต้องตัดราคา ก็ส่งผลให้ราคามันต่ำกว่าโรงที่เราส่ง ส่วนมากเราเลยไม่ค่อยขายปลีกให้กับแม่ค้ารายย่อยนัก เลือกส่งไปที่โรงกลางให้ได้ราคามาตราฐานดีกว่า ทีนี้แม่ค้าจะมาซื้อกี่โลก็ได้ในราคาของโรงกลาง”
“ร้านอาหารซีฟู้ดส่วนใหญ่จะชอบกดราคากับชาวประมง แต่แปลกนะพอไปซื้อที่ตลาดดันไม่มีต่อราคาเลย ยกตัวอย่างตอนนั้นน้าเคยจะไปขายปู ปกติเขาซื้อจากตลาดโลละ 300 บาท พอน้าไปขายเขาดันให้แค่ 250 บาท สุดท้ายก็ไม่ขายดีกว่า ส่วนมากก็จะขายให้ลูกค้าประจำเรา หรือนักท่องเที่ยวดีกว่า ขายแบบนี้นิดๆ หน่อยๆ เราแถมให้ยังได้เลย”


ไม่ยากอย่างที่คิด
ก่อนจากกันน้าบี๋บอกว่าความจริงปลาสด กุ้งสด หรือทุกอย่างที่ชาวประมงหาได้จากทะเลนั้นซื้อขายกันง่ายกว่าที่เราคิด เพียงแค่เรามาที่สะพานปลาแห่งนี้ ก็สามารถซื้อกันได้ทันทีเลย แต่มีข้อแม้ว่าต้องรีบตื่นเช้าซักหน่อยนะ
“ใครอยากจะได้หมึก ได้กุ้ง ได้ปู ไปทำอาหารกิน ไม่ต้องไปติดต่อใครเลย มาที่นี่นี่แหละ อย่างเรือหมึกเนี่ยเขาจะกลับมาตอน 6 โมงเช้า เตรียมถุงมาให้พร้อม เห็นใครหิ้วหมึกขึ้นมาก็ถามเขาได้เลยว่าขายไหม ขอแบ่งซื้อสักหน่อยได้ไหม ซื้อกันง่ายแบบนี้เลยแหละ ถ้าปลานี่ต้องช่วงตี 5 ครึ่ง จะเห็นคนหาปลาเขาเข็นรถขายเองเลย ออกจากที่นี่เขาก็ไปตามในเมืองหัวหินนี่แหละ ปูสดๆ ก็มีตอนเช้าเหมือนกัน ถ้าเจอก็ลองถามลองซื้อกับเขาได้สบายๆ เลย”


Add Comment